พระอาทิตย์

"พระอาทิตย์" พระประจำวันเกิด (นวนพเคราะห์)
พระประจำวันอาทิตย์ เทพนพเคราะห์ ดาวนพเคราะห์


ตำนานพระอาทิตย์ (พระสุริยะ) โดย : ศรีมหาโพธิ์

อาทิตย์ ตามคัมภีร์ไตรเพทของพราหมณ์ กล่าวว่ามีถึง ๘ องค์ มีชื่อต่างๆกันว่าเป็นโอรสของพระกัศปประชาบดี กับพระอทิติ แต่ได้ทอดทิ้งพระมรรตาณะฑะเสียองค์หนึ่ง คงนำไปเฝ้าพระเป็นเจ้าแค่ ๗ องค์ ต่อมาไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ จึงยอมรับพระมรรตาณะฑะเป็นอาทิตย์ด้วย จึงรวมเป็นพระอาทิตย์ ๘ องค์ ได้แก่



๑. วรุณาทิตย์ ๒. มิตราทิตย์ ๓. อริยมนาทิตย์ ๔.ภคาทิตย์
๕. องศาทิตย์ ๖.อินทราทิตย์ ๗.ธาตราทิตย์ ๘.สุริยาทิตย์

องค์ที่มีนามว่า สุริยาทิตย์ นี่แหละคือ พระมรรตตาณะฑะ ที่พระมารดาคือพระอทิติ ไม่พาไปเฝ้าพระผู้เป็นเจ้า จึงไม่ได้อยู่บนเทวโลกอย่างพระอาทิตย์องค์อื่นๆ ทั้ง ๗ องค์แรก จึงคงเที่ยวขับราชรถอยู่ระหว่างเทวโลกกับมนุษย์โลกตราบเท่าทุกวันนี้

ตามคัมภีร์พระเวท พระอาทิตย์จะมีนามนัยหนึ่งว่า พรุสูรย์ หรือ พระ สุริยเทพ มีหน้าที่ให้แสงสว่างและความอบอุ่นต่อมนุษย์ สัตว์และพืชพันธุ์บนพื้นโลกนี้ มีบางแห่งเรียกว่า สวิตฤ(สวิต์ฤ) ขี่ราชรถเทียมม้าแดง ๗ ตัว
มีเรื่องเล่าว่า พระสุริยเทพ มีชายาหลายนาง แต่ที่ปรากฏนามเสมอๆ ได้แก่นางสัญญา ซึ่งเป็นธิดาของพระวิศวกรรม มีลูกด้วยกันคือ พระมนูไววัสวัต (หรืออีกนามว่า ท้าวสัตยพรต) ๑ พระยม (หรือพระธรรมราชา) ๑ นางยมี (หรือ ยมุนา) ซึ่งเป็นชื่อแม่น้ำสายสำคัญได้แก่ แม่น้ำยมนา หรือ ยมุนา)
เนื่องจากพระสุริยเทพมีกายรุ่งโรจน์ร้อนแรงเหลือทน นางสัญญาจึงให้ นางฉายา ไปเป็นเมียแทน ส่วนตนนั้นได้ออกบวช บำเพ็ญพรตเป็นโยคินี อยู่ในป่า และไม่ต้องให้สามีจำได้ จึงจำแลงแปลงร่างเป็นม้า มีฉายานามว่า อัศวินี

อย่างไรก็ตาม พระสุริยเทพก็มีอิทธิฤทธิ์เหมือนกัน จึงแปลงร่างเป็นม้าไปสมสู่เป็นคู่ผัวตัวเมียจนเกิดลูกด้วยกัน คือ อัศวิน แฝดคู่กับ เวรันต์ แล้ว จึงพานางกลับมายังสำนักเดิมแห่งตน
ฝ่ายพระวิศวกรรมผู้พ่อตา (ในปางที่แยกมาจากพระวิษณุหรือพระอิศวร) จึงจับพระสุริยะกลึง เพื่อขัดถูขูดผิวกายที่สว่างมากๆออกเสีย ๑ ส่วนใน ๘ ส่วน ผิวที่ขูดออกไปนั้น พ่อตาได้นำไปสร้างเป็น จักร ถวายพระนารายณ์ ๑ ตรีศูล ถวายพระอิศวร ๑ คฑา(ไม้เท้า)ถวายท้าวกูเวร ๑หอก ถวายแด่พระขันทกุมาร ๑ และนอกจากนี้ยังนำไปสร้างเป็นอาวุธแจกจ่ายให้เทพยดาอื่นๆจำนวนมาก
ในรามายณะ กล่าวว่า พระสุริยเทพหรือพระอาทิตย์ เป็นพ่อของ พญาสุครีพ ลิงผู้ครองนครกีษกินธยา
ในมหาภารตะ ว่า เป็นพ่อท้าวกรรณะ ผู้ครองแคว้นองคราษฎร์(เมืองเบงคอล)ผู้เป็นเสานาบดีแม่ทัพฝ่ายโกรพ
ในหริศวัต ว่า เป็นพ่อของพระมนูไววัสสัต ซึ่งเป็นพ่อของท้าวอิกษวากุ ผู้เป็นบรมชนกแห่งกษัตริย์สุริยวงศ์ ผู้ครองนครศรีอโยธยา และนครมิกิลา ก็แลพระมนู นั้นยังมีธิดาชื่อ นางอิลา ซึ่งได้เป็นมเหสีของ พระพุธเทวราช พระพุธกับนางอิลามีโอรสคือ ท้าวปุรูรพ บรมกษัตริย์แห่งจันทรวงศ์ กับมีความนิยมกันว่า คราวพระสุริย์แปลงเป็นม้าอยู่นั้น ได้พบพระฤา ชื่อ ยาญวัลกย์ ได้บอกพระอรชุนยัชุรเวท ให้แก่พระยาญวัลกย์
พระอาทิตย์หรือพระสุริยาทิตย์ ถ้ากล่าวในหมู่เทวดา กลุ่มดาวนพเคราะห์ เรียกว่า ระวี (ระพี) และยังมีชื่อต่างดันออกไปเช่น:-

๑. ทินกร = ผู้ทำวัน ๒. ทิวากร = ผู้ทำวัน
๓. ภาสกร = ผู้ทำแสงสว่าง ๔. ประภากร = ผู้ทำแสงสว่าง
๕. อาภากร = ผู้ทำแสงสว่าง ๖. สวิตฤ = ผู้เลี้ยง
๗.อรหบดี = ผู้เป็นใหญ่ในวัน ๘. โลกจักษุ = ผู้เป็นตาโลก
๙. สหัสสรกิรณะ = ผู้มีแสงพันหนึ่ง ๑๐. วิกรรตตะณะ = ผู้ถูกขูดแสงออก

ในคัมภีรไตรเพท ยังกล่าวไว้ว่า พระสุริยาทิตย์นั้น มีเนตร (ตา) เป็นทอง มีกร(แขน) เป็นทอง และมีชิวหา(ลิ้น)เป็นทอง ทรงรถเทียมม้าเท้าด่างขาว

ในคัมภีรปุรณะ แสดงว่า รูปร่างพรอาทิตย์ มีสีกายแดงแก่ มี ๓ เนตร ๔ กร ถือดอกบัว ๒ ข้าง อีกสองข้างข้างหนึ่งให้พรอีกข้างหนึ่งกวัวให้บูชา นั่งมาบนดอกบัวหลวง มีรัศมีเปล่งปลั่งรุ่งโรจน์อยู่รอบกาย มีสารถีคือพระอรุณ
การบูชาพระสุริยาทิตย์นั้น มีสืบกันมาเนิ่นนานแล้วตั้งแค่สมัยพระเวท ต่อมาในต้นคริสต์ศักราช ลัมธิกรบูชาพระอาทิตย์มีความเจริญรุ่งเรือง และมีการพัฒนาไปมากทั้งอินเดียเหนือและใต้ จะมีการสร้างเทวลัยหรือเทวสถาน อุทิศให้กับรูปปั้น รูปหล่อ ของพระสุริยเทพโดยเฉพาะ ดังปรากฏที่เมืองมูลแทน แคว้นแคชเมียร์(กัษมีระ)
อนึ่งยังมีชาวฮินดูรวมเอาพระอาทิตย์เข้าในการบูชาเป็นเทพเจ้าทั้ง ๕ องค์ ในแห่งเดียวกัน เทวาลัยที่สำคัญจะตั้งอยู่ตรงกลาง ส่วนอีก๔ แห่งจะตั้งอยู่ตามทิศ ๔ มุม เรียกตามคติชาวฮินดูว่า “ฮินดูปัญจายาคะนะ” มีเทพคือ สุริยะเป็นแกนกลาง ส่วน ๔ ทิศนั้นหมายถึง พระวิษณุ พระคเณศร์ พระเทวี และพระศิวะ
แต่ในยุดหลังๆ ต่อมาการบูชาสุริยเทพได้เสื่อมลดน้อยถอยลงแต่ก็ยังจัดอยู่ในเทพชั้นรอง
มีกล่าวถึงราชรถของพระอาทิตย์บ้าง ที่ว่าเทียมด้วยม้า ๗ ตัวนั้น บางคัมภีร์ว่าความจริงเทียมด้วยม้าเพียงตัวเดียว แต่มี ๗ หัว เช่นเดียวกับนาค ๗ หัวมีตัวเดียวนั่นเอง ที่กล่าวแตกต่างกันไปเนื่องจาก นักปราชญ์ทางศาสนาฮินดูต่างมีหลากหลายความคิด แล้วแต่จะกล่าวสรรเสริญยกย่องเทพเจ้าแห่งตน เลอเลิศประเสริฐศรีเพียงใดนั่นเอง
รูปพระอาทิตย์หรือพระสุริยเทพ ตามลัทธิความเชื่อถือของชาวฮินดู จะทำให้มีรูปกายสีแดง เรือนร่างมนุษย์ นั่งบนรถเทียมม้า ๗ ตัว หรือตัวเดียวมี ๗ หัว ปรากฏ ประกายแสงสว่างรุ่งเรืองรอบรถและม้ามีสารถีนามว่า อรุณ แหล่างสำนักคือ วิวัสวดี

ส่วนมเหสีมีเพิ่มมาอีก ๓ นาง คือ สวรรณี ๑ สวาดี ๑ และ นางมหาวีรยา๑ สำหรับมเหสีเดิมคงได้แก่ นางสัญญา ๑ นางฉายา ๑ และนาง อัศวนี ๑ เทียบตามคติพราหมณ์ ผู้ให้กำเนิดโหรศาสตร์ท่ากล่าวว่า พระอาทิตย์ ท่านว่า มีผิวกายดำแดง ผิวเนื้อสองสี ประดับอาภรณ์ ด้วยเครื่องทรงเป็นแก้วมณีแดง หรือปัทม ทรงราชสีห์เป็นพาหนะ
เป็นเทพที่อุบัติขึ้นในจักรวาลก่อนดาวเคราะห์ทั้งมวล เป็นดังไฟร้อนแรงรุ่งโรจน์ร้ายแรงยิ่งนัก มีกำลัง ๖ ทางศาสนาฮินดูเรียกว่า “สุริยเทพ” สถิตอยู่เบื้อง ทิศอิสาณ แปลว่า “ทิศแห่งพระผู้เป็นเจ้าผู้ยิ่งใหญ่”
ตามหลักคัมภีร์พระเวท ตอนฤคเวท กล่าวว่า ร่างของพระอาทิตย์ มีลักษณะเป็นนกมีปีกอันสวยสง่างาม มีรัศมีวายกายสีแดง เป็นแสงรุ่งโรจน์รอบตัว มี ๔ กร มี อรุณเป็นสารถี รถม้าเทียม ๗ ตัว บางตำราว่า ๑ ตัว แต่มี ๗ หัว ที่ประทับสุรยเทพ เรียกว่า วิวัสวดี

ดวงอาทิตย์ ตามหลักโหรราศาสตร์ ประจำราศีธาตุไฟ เป็นดาวฤกษ์ที่ให้แสงสว่างและเสริมกำลังให้แก่ดาวนพเคราะห์ทั้งหลายอันก่อให้เกิดมีสิ่งมีชีวิตเกิดขึ้นในโลก เช่น มนุษย์ สัตว์ และพืชต่างๆ


วิธีบูชาพระอาทิตย์ ผู้เกิดวันอื่นๆ ก็บูชาเทวดาองค์นี้ได้เช่นกัน
ผู้บูชาพระอาทิตย์ จะได้รับพรด้านความเจริญก้าวหน้า มีเกียรติ์ในสังคม มีชื่อเสียงในวิชาชีพของตน
ได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจ ได้รับความเคารพศรัทธาจากผู้อื่น
พระประจำวันเกิดของผู้ที่เกิดวันอาทิตย์คือ ปางถวายเนตร

คาถาบูชาพระอาทิตย์
ไหว้แบบไทย สามารถทำตามเคล็ดวิชาการบูชาของไทยโบราณได้
คือ ถ้าบูชาประจำวันปกติใช้ธูป 3 ดอก
หากบวงสรวง ขอพรในกรณีพิเศษ ฤกษ์ที่ดีที่สุดคือวันอาทิตย์ ให้ใช้ธูป 6 ดอก (ตามกำลังเทพนพเคราะห์)

บูชาพระอาทิตย์ ด้วย คาถานารายณ์แปลงรูป
อะ วิช สุ นุต สา นุส ติ
สวดตามกำลังเทพพระอาทิตย์ คือ 6 จบ
(บทสวดนี้ได้มาจากบทสรรเสริญพระพุทธคุณ เรียกว่า พระคาถาอิติปิโสแปดทิศ)

0 ความคิดเห็น