พระแม่ลักษมี


พระแม่ลักษมี คือเทวีแห่งความงดงาม ความร่ำรวย และความอุดมสมบูรณ์ พระองค์มักประทานความสำเร็จในการประกอบกิจการ การเจรจาต่อรอง การทำมาค้าขาย การประกอบธุรกิจทุกสาขา ตลอดจนประทานโภคทรัพย์ เงินทอง สมบัติ แก่ผู้หมั่นบูชาพระองค์และประกอบความดีอยู่เป็นนิจ

พระแม่ลักษมี มีกำเนิดจากฟองน้ำ ในคราวเทวดาและอสูรกวนเกษียรสมุทร ทำน้ำอมฤต จึงได้นามว่า ชลธิชา (เกิดแต่น้ำ) หรือ กษีราพธิตนยา (ลูกสาวแห่งทะเลน้ำนม)

ในขณะที่ผุดขึ้นมานั้นนั่งมาในดอกบัวและมือถือดอกบัวด้วย จึงมีอีกนามหนึ่งว่า ปัทมา หรือ กมลา แต่ในคัมภีร์วิษณุปุราณะจะกล่าวไว้ว่า พระแม่ลักษมีเป็นธิดาของพระฤาษีภฤคุกับนางขยาติ และยังกล่าวต่อไปอีกว่าพระแม่ลักษมีเป็นมารดา พระกามเทพ ด้วย

พระแม่ลักษมี ผู้ศรัทธาจะถือกันว่าเป็น เทพนารีผู้อำนวยโชค มีน้ำพระทัยเมตตาปราณีอยู่เป็นนิจ เป็นตัวอย่างแห่งนางที่งามตลอดทั้งรูปและกิริยามารยาท มีวาจาเปี่ยมด้วยเสน่ห์และไพเราะ ทั้งถือกันว่าเป็นผู้นำมาซึ่งความเจริญทุกประการ นับกันว่าเป็นผู้อุปถัมภ์บรรดาสตรีทุกชั้น ส่วนรูปมักเขียนเป็นสตรีที่งามยิ่งมี 2 กรอย่างธรรมดา (บางแห่งก็ว่ามี 4 กร) สีกายเป็นสีทองเสื้อทรงสีเหลือง นั่งหรือยืนบนดอกบัวและมือถือดอกบัว


อนึ่งพระแม่ลักษมีมักจะอวตารไปเป็นชายาของพระวิษณุ (พระนารายณ์ผู้ดูแลรักษาโลก) อยู่ทุกครั้งไป เช่น พระวิษณุอวตารเป็น พระราม พระแม่ลักษมีก็ตามไปเกิดเป็น พระนางสีดา

ในปางกฤษณาวตาร พระวิษณุอวตารเป็น พระกฤษณะ พระแม่ลักษมีก็ไปเป็น พระนางรุกมิณี หรือ พระนางราธาเทวี

ในปางปรศุรามาวตารก็ไปอวตารเป็น พระแม่ธรณี ในปางวามนาวตารก็อวตารไปเป็น พระนางกมลา เป็นต้น

คติความเชื่อถือเกี่ยวกับพระแม่ลักษมีในเมืองไทยอาจเห็นว่า ไม่พบมากนักนอกจากปรากฏในวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ ที่เสด็จอวตารลงมาเป็นนางสีดาในรามาวตาร ซึ่งเป็นชนวนเหตุของการรบ ระหว่างทศกัณฐ์ กับพระราม นอกจากนั้นก็ไม่พบได้เด่นชัดนัก

อนุมานอยู่เรื่องหนึ่งที่น่ามีเค้ามาจากพระแม่ลักษมี ตามคติอินเดียก็คือ พระแม่โพสพ เทวีแห่งพืชพันธุ์ ธัญญาหาร ซึ่งคติอินเดีย นั้นเป็นอวตารของพระแม่ลักษมี ในคติลักษมีแปดปางที่ชื่อ ปางธัญญลักษมี มีเทวลักษณะ 4–6 พระกร ขึ้นกับจิตรกรจะวาดออกมา โดยพระหัตถ์ทั้งสองด้านจะทรงรวงข้าวและธัญพืช

ส่วนแม่โพสพของไทยเรานั้น สันนิษฐานมาจากสองคติ คือ ทางหนึ่งมาจาก ธัญญลักษมี ที่กล่าวมา (ดังรูปด้านขวามือ มีปางหนึ่งชื่อ DHANYA LAKSHMI องค์ที่ทรงอาภรณ์สีเขียว) อีกทางหนึ่งว่า เป็นการแบ่งภาคจากพระพรหม มาเป็นเทพเจ้าแห่งพืชพันธุ์ธัญญาหาร โดยการแบ่งภาคนี้หากเป็นเทพบุรุษ ก็เรียกว่า พระไพรศรพณ์ เป็นเทพบุตรรูปงามถือพระขรรค์ ทรงหงส์เป็นสัตว์เทพพาหนะ ส่วน ภาคเทวนารี เป็น พระแม่โพสพ ซึ่งจะเป็นรูปนางงามถือรวงข้าวซึ่งคติอย่างหลังก็น่า จะมาจาก ธัญญลักษมี ของอินเดียเหมือนกัน เพราะตอนที่พระแม่ลักษมีผุดขึ้นตอนกวนเกษียรสมุทร มีพระพรหมเสด็จมารับเป็นเทพผู้ใหญ่ของพระแม่ลักษมี เพื่อเลือกคู่ ซึ่งก็มีการนำเอาพระพรหมมาเกี่ยวข้องด้วยเช่นกัน


นอกจากนี้การกำเนิดพระแม่ลักษมีนั้น ก็เป็นเรื่องราวที่เกิดจารีตประเพณีแต่งงานแบบหนึ่งด้วย กล่าวคือความงามที่เลิศกว่าเทวนารีใดก็มีเทพเจ้าและอสูรมากมายที่หมายปอง จนองค์พระพรหมต้องเสด็จมารับและให้นางเลือกคู่ ครองเองจนพระนางเลือกพระวิษณุเป็นเทพสวามี ซึ่งตรงนี้เองเป็นที่มาของพิธีวิวาห์ แบบหนึ่งที่หญิงต้องไปสู่ขอผู้ชายจากผู้ใหญ่ฝ่ายชาย หรือเป็นผู้เลือกฝ่ายชายเป็นสามีเองที่เรียกกันว่า สยุมพร นั่นเอง

ประเพณีนี้ยังคงพบในบางจังหวัดของประเทศไทย อย่างจังหวัดแพร่แถบอำเภอสอง ก็ยังมีประเพณีทำนองนี้ให้พบเห็นอยู่ส่วนจะมาจากคติอินเดียแบบสยุมพรนี้ หรือบังเอิญเป็น ประเพณีพ้อง ก็คงไม่ชี้ชัดไปจะขอเล่าเอาไว้เป็นเนื้อความประกอบเรื่องนี้เท่านั้น


พระแม่ลักษมีเทวีทรงเป็นเทวีแห่งโชคลาภ ที่กล่าวกันว่าทรงอำนาจค้ำจุนอย่างวิเศษ!! มีบันทึกอย่างจารึก Junagdh Inscription ของ Skandagupta กษัตริย์รุ่นปลายของราชวงศ์คุปตะได้กล่าวว่า ด้วยอำนาจแห่งเทวีลักษมีนี่เอง ที่ทรงส่งเสริมอำนาจเทพสวามีคือ พระวิษณุ จนได้ชื่อว่า เทพเจ้าผู้บริหารโลก การบูชาพระแม่ลักษมี จึงมีแพร่หลายทั่วไปในอินเดีย เพราะเชื่อว่าผู้ที่สามารถบูชาจนเป็นที่พอพระทัย เทวีลักษมีจะทรงประทานศิริและความมั่งคั่งให้อย่างน่าอัศจรรย์ใจทีเดียว

ส่วนในประเทศไทยนอกจากคติการบูชาเจ้าแม่โพสพ แล้วก็มีการบูชาพระแม่ลักษมีอยู่บ้าง สำหรับผู้ที่เคารพบูชาตามจารีตฮินดู

สำหรับวันสำคัญ ก็มีหลายวันที่บูชาพระแม่ลักษมีในโอกาสต่างๆกัน อย่างวัน ขึ้น 9 ค่ำ เดือนอัษฐะ (มิถุนายน-กรกฏาคม) เป็นการบูชา พระนางสีดา (ลักษมีอวตาร) ร่วมกับ พระราม และ หนุมาน เรียกว่า วันสีดา นวะมี

หรืออย่างวันแรม 14 ค่ำ เดือนการติก (ตุลาคม-พฤศจิกายน) เป็นวัน พิธีแห่งแสงสว่าง เรียกว่า วันดีปาวลี เชื่อว่าพระแม่ลักษมีเทวีจะโปรดประทานความร่ำรวยแก่ผู้บูชาพระนางและยังมีวันอื่นๆ อีกที่กำหนดให้บูชาพระแม่ลักษมีเทวีในโอกาสที่แตกต่างกันออกไป แต่จุดมุ่งหมายเดียวกันคือ การขอรับพรอันศักดิ์สิทธิ์จากพระนาง ในคุณสมบัติที่พระนางมีอย่างเปี่ยมล้น คือ ศิริ-ความดีงามและความมั่งคั่งร่ำรวยนั่นเอง..

สาระสำคัญทั่วไปเกี่ยวกับพระแม่ลักษมี
(ขอขอบคุณ อ.กิตติ วัฒนะมหาตม์ / หนังสือ ตรีเทวปกรณ์)

เนื่องด้วยพระแม่ลักษมีทรงเป็นเทวีแห่งความงาม ช่างอินเดียจึงมักทำรูปพระนางให้เป็นหญิงที่งดงามที่สุดตามคติอินเดีย ตามตำรามักกล่าวกันว่า ทรงมีพระวรกายเป็นสีทอง ทรงพัสตราภรณ์สีเหลือง แดง หรือ ชมพู ประทับนั่งหรือยืนบนดอกบัวอันเป็นสัญลักษณ์แห่งพระนาง บางครั้งก็ประทับบนหลังช้าง ทรงมี 4 พระกรเมื่ออยู่โดยลำพัง แต่ถ้าประทับร่วมกับพระวิษณุแล้ว ก็ทรงมี ๒ พระกรบ้าง 4 พระกรบ้าง รัศมีแห่งองค์พระแม่ลักษมีนั้น กล่าวกันว่าสุกปลั่งเป็นประกายอย่างสายฟ้าแลบ กลิ่นหอมจากพระวรกายนั้นประหนึ่งกลิ่นดอกบัว หอมจรุงไปไกลถึงหลายร้อยโยชน์


สิ่งที่พระลักษมีทรงถืออยู่ที่เห็นกันบ่อยที่สุด คือ ดอกบัว ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ประจำพระองค์ และมักจะถือไว้ 2 ดอก หรือไม่ก็ทรงถือหม้อน้ำ พระหัตถ์หนึ่ง อีก พระหัตถ์หนึ่งหงายลงสู่พื้น มีเหรียญทองโปรยปรายลงจากใจกลางพระหัตถ์นั้น หรือไม่ก็เทออกมาจากในหม้อ เป็นสัญลักษณ์ของเทวีแห่งโชคลาภและความร่ำรวย บางครั้งก็จะทรงอาวุธบ้าง เช่น จักร อันบ่งความหมายถึงองค์นารายณ์ (พระวิษณุเทพ) นั่นเอง

ในไวษณพนิกาย (ฝ่ายนับถือพระวิษณุเป็นใหญ่) ก็มีตำรากล่าวไว้ว่า เดิมพระวิษณุทรงมีพระชายาถึง 3 พระองค์ คือพระแม่ลักษมี พระแม่สรัสวดี และพระแม่คงคา แต่ทั้งสามพระองค์ไม่ยอมลงให้แก่กัน พระวิษณุเทพจึงทรงแก้ปัญหา โดยยกพระสรัสวดีให้พระพรหม และยกพระคงคาให้พระศิวะ ที่แต่งไว้เช่นนี้ ไม่มีจุดประสงค์อย่างอื่น นอกจากมุ่งจะสอนว่าการมีภรรยามากนั้นไม่ดี และผลพลอยได้ก็คือ การอธิบายเช่นนี้สามารถข่มลัทธิไศวะนิกาย และฝ่ายที่บูชาพระพรหม โดยแสดงให้เห็นว่า พระวิษณุเป็นเจ้าทรงเป็นใหญ่ที่สุด เพราะผู้ใหญ่เท่านั้นที่จะยกทรัพย์สมบัติให้ผู้น้อยได้ แต่เรื่องเช่นนี้ ปัจจุบันไม่ถือเป็นเรื่องจริงจังกันแล้วในประเทศอินเดีย





พาหนะแห่งองค์พระแม่ลักษมีมี คือ ช้าง คนอินเดียถือว่า ช้าง เป็นสัญลักษณ์แห่งบุญญาธิการ พลังอำนาจ และความมั่งคั่ง ดังกำเนิดพระลักษมีที่มีช้างโปรยน้ำถวายนั่นเอง นอกจากช้างแล้ว ชาวอินเดียทั้งหลายก็นับถือ เบี้ยจั่น ว่าเป็นสัญลักษณ์ขององค์พระแม่ลักษมีมาแต่โบราณ ซึ่งจะเก่าแก่เท่าใดก็ไม่ทราบได้ แต่อย่างน้อยต้องเก่าถึงสมัยที่ยังใช้เบี้ยจั่นแทนเงินตรากันอยู่ เพราะว่าพระนางทรงเป็นเทวีแห่งโภคทรัพย์ ความร่ำรวย จึงย่อมทรงเกี่ยวข้องกับเงินตรา ซึ่งแทนด้วยเบี้ยจั่นนั้น

การที่พระแม่ลักษมีทรงเกี่ยวข้องกับความร่ำรวย ก็เพราะพระนางทรงเป็นเทวีแห่งความอุดมสมบูรณ์ และความอุดมสมบูรณ์นั้น ถ้าจะมองอีกแง่หนึ่ง ก็หมายถึง พืชพันธุ์ธัญญาหารที่เก็บเกี่ยวได้อย่างมากมาย อีกด้วย ดังนั้นเกษตรกรในอินเดียจึงบูชาพระแม่ลักษมีในภาคที่เป็น พระแม่โพสพ ดังมีพระนามในการนี้โดยเฉพาะว่า พระธัญญลักษมี (Dhanya Lakshmi)




มีตำนานเกี่ยวกับพระธัญญลักษมีที่เล่ากันว่า ครั้งหนึ่งเกิดทุกขภัยแห้งแล้งกันดารขึ้นในโลก เวลานั้นแสงอาทิตย์ร้อนแรงจนผู้คนออกจากบ้านไม่ได้ เมื่อถึงยามค่ำคืนบรรดาเกษตรกรจึงพากันบูชาพระวิษณุ หากแต่เวลานั้นพระวิษณุบรรทมหลับอยู่ ไม่ได้ยินเสียงวิงวอนของผู้คนในโลก

แต่พระลักษมีทรงได้ยิน และเนื่องจากไม่กล้าปลุกบรรทม พระแม่ลักษมีจึงแบ่งภาคมาเป็น พระแม่โพสพ เพื่อช่วยเหลือมนุษย์โลก โดยทรงนำมหาสังข์ใส้น้ำมาโปรยปรายเป็นฝน และเนรมิตข้าวในนาให้เจริญงอกงาม เป็นที่ปลาบปลื้มยินดีแก่ประชาชนผู้ตกทุกข์ได้ยาก จนเหลือที่จะพรรณนาได้

การบูชาพระแม่โพสพที่เราเคยได้เรียนได้อ่านกันมา
ก็คือการบูชาพระแม่ลักษมีในปางนี้นั่นเอง

คาถาบูชาพระแม่โพสพ
โอม โพสะวะโภชะนัง อุตตะมะ ลาภัง มัยหัง สัพพะสิทธิ หิตัง โหตุ


คาถาบูชาพระแม่ลักษมี

ก่อนการสวดบูชาต่อพระแม่ลักษมี
ต้องสวดมนต์ต่อพระพิฆเนศก่อนเสมอ

บทสวดมนต์พระแม่ลักษมีนั้นมีหลายบท เลือกสวดได้ดังต่อไปนี้

- โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (สามจบ)

- โอม ศรี ลักษะมิไย นะมะห์ (สามจบ)

- โอม มหาลักษะ มิไย นะโม นะมะห์
โอม วิษณุ ปรียาไย นะโม นะมะห์
โอม ธะนะ ประทาไย นะโม นะมะห์
โอม วิศวา จะนันไย นะโม นะมะห์


- ยา เทวี สะระวะ ภูเตชุ
ลักษมี รูเปนะ สัม สะถิตา
นะมัส ตัสไย / นะมัส ตัสไย / นะมัส ตัสไย
นะโม นะมะห์


บทสวดบูชาขอชัยชนะแด่พระแม่ลักษมี
โอม ไชยะ ปัทมา วิศาลักษิ
ไชยะ ตวัม ศรี ปติ ปริเย
ไชยะ มาตา มหาลักษมี
สะมะ สะระณะ วันณะวะ ธาระนี ฯ (หนึ่งจบ)
ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่ลักษมี ผู้ทรงมีพระเนตรงดงามดั่งดอกบัว
ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่ลักษมี ผู้เป็นที่รักแห่งองค์พระวิษณุมหาเทพ
ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่ลักษมี ผู้เป็นมหามารดาแห่งสรรพชีวิตทั้งปวง
ขอชัยชนะจงมีแด่พระแม่ลักษมี ผู้นำพาเราข้ามมหาสมุทรอันไพศาล

0 ความคิดเห็น